“ประเพณีบุญเบิกฟ้า ช่วงวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต ชาวนาอีสานตอบแทนผืนแผ่นดินทำกิน โดยการใช้ปุ๋ยคอกทำจากมูลสัตว์กลับคืนสู่ผืนดินให้มีความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง อีกทั้งสายฝนแรกของปีก็กำลังจะมา ฟ้ากำลังจะร้อง เมื่อมาทิศใดก็จะทำนายความอุดมสมบูรณ์ในปีนั้นๆ ไปตามความเชื่อดั้งเดิม”
ชาวนาใช้ประโยชน์จากพื้นดินมายาวนาน ตลอดระยะเวลาการเพาะปลูก ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นดินได้สูญสลายไป เมื่อถึงช่วงเก็บเกี่ยว เมล็ดข้าวที่เติบโตจนได้สีทองล้วนเป็นสิ่งที่ธรรมชาติได้มอบให้ ซึ่งชาวนาต่างรู้และสำนึกในบุญคุณของผืนแผ่นดิน ด้วยการคืนธาตุ คืนอาหารเป็นการตอบแทน อาการที่ว่าก็คือปุ๋ยนั่นเอง
เดือน ๓ เดือนมหัศจรรย์ของชาวอีสาน นอกจากเป็นเดือนที่อุดมสมบูรณ์แล้วยังเป็นเดือนเริ่มต้นฤดูฝน ซึ่งจะมีเสียงฟ้าร้อง และมีความเชื่อว่าในวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ นี้ เมื่อมีฟ้าร้องมาจากทิศทางใดจะเป็นสัญญาณบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของฝนในปีนั้นๆ การทำนายดังกล่าวนับว่ามีความแม่นยำจนมีการจดบันทึกคำทำนายเป็นกลอนไว้เป็นหลักฐาน ชื่อว่า “โสลกฝน”
ประเพณีบุญเบิกฟ้าเริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๘ ชาวบ้านแบก ตำบลนาทอง อำเภอเชียงยืน ได้ฟื้นฟูประเพณีหาบฝุ่นปุ๋ยคอกไปใส่แปลงนาทุกครัวเรือนเพื่อเป็นการฟื้นฟูประเพณีบำรุงดินแบบอีสานจากความร่วมมือของชุมชนปรากฏว่าผลผลิตข้าวในปีนั้นเพิ่มจำนวนขึ้นเท่าตัว ชาวบ้านจึงจัดงานประเพณีนี้เรื่อยมา และกลายเป็นงานประเพณีประจำปีของจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งจัดอย่างยิ่งใหญ่ตลอดระยะเวลา ๗ วัน ๗ คืน
เมื่อถึงกำหนดงานชาวบ้านต่างช่วยกันหาบปุ๋ยคอกไปใส่ลงในแปลงนา ควบคู่กับพิธีบูชาพระแม่ธรณี ตั้งเครื่องสังเวย เหล้าไห ไก่ต้ม ของหวาน กล้วย อ้อย ตามรูปแบบพิธีกรรมดั้งเดิม ซึ่งนับเป็นประเพณีที่สมบูรณ์ และสะท้อนภาพวิถีชีวิตของชาวอีสานอย่างแท้จริง
– วันเวลาการจัดงาน : วันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ ของทุกปี
– สถานที่จัดงาน : สนามหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองมหาสารคาม
– สถานที่จัดงาน : สนามหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองมหาสารคาม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น