“ย้อนอดีตเก่าแก่ เมืองแพร่เมืองงาม เล่าขานตำนานช่อแพร่ช่อแฮแหล่งประดิษฐานพระเกศาธาตุ พระบรมสารีริกธาตุ พระศอกซ้ายของพระพุทธเจ้า เมื่อถึงวันขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๔ ใต้ เดือน ๖ เหนือ พุทธศาสนิกชนหลั่งไหลไหว้พระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่ แห่ตุงหลวง ถวายแด่องค์พระธาตุสืบมา”
ตำนานเก่าแก่แห่งเมืองมนต์ขลังเล่าว่า อดีตกาล พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาถึงดอยโกสิยธชัคคะบรรพตและได้มอบพระเกศาธาตุให้ขุนลั๊วอ้ายก้อมไปบรรจุในผอบแก้วแล้วนำไปไว้ในถ้ำด้านตะวันออกของดอยที่ประทับ ซึ่งผ้าแพรที่ขุนลั๊วอ้ายก้อมนำมารองรับพระเกศาธาตุนั้นเรียกว่า “ผ้าแฮ” นิยมนำผ้าแฮ หรือผ้าแพรมาประดิษฐ์เป็นช่อ หรือธง แล้วทำการถวายสักการะเป็นพุทธบูชา ต่อมาภายหลังเพี้ยนมาเป็น “ช่อแฮ่” หรือ “ช่อแพร่” โดยครั้งนั้นพระพุทธเจ้าทรงมีรับสั่งว่า ต่อไปเมืองนี้จะชื่อเมืองแพร่ และหลังจากที่พระองค์ปรินิพพานแล้ว ให้นำพระธาตุข้อศอกข้างซ้ายมาประดิษฐ์ที่นี่ด้วย และหลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว ๒๑๘ ปี พระเจ้าอโศกมหาราชและพระอรหันต์จำนวนมากได้ร่วมกันอธิษฐานอันเชิญพระบรมสารีกริกธาตุที่ได้บรรจุในผอบแก้วที่เตรียมไว้นั้นไปสถิตในสถานที่ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงหมายไว้แต่เดิม แล้วประกาศแก่เทวดาทั้งหลายให้พิทักษ์รักษาตลอดไป จนกว่าจะหมดอายุแห่งพระพุทธศาสนา ๕๐๐๐ พระวัสสา
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ระบุว่า ในสมัยของสมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พระยาลิไท) ครั้งทรงดำรงตำแหน่งมหาอุปราชเมืองศรีสัชชนาลัย ได้เสด็จยกทัพแปรพระราชฐานมาทำการบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุช่อแฮเสร็จแล้ว ทรงให้มีงานฉลองสมโภช ๗ วัน ๗ คืน ตั้งแต่วันขึ้น ๙-๑๕ ค่ำ เดือน ๖ เหนือ เดือน ๔ ใต้ และนับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา เจ้าผู้ครองนครแพร่ทุกพระองค์ก็ได้ยึดถือประเพณีไหว้พระธาตุประจำปีสืบมา
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ในสมัยของเจ้าหลวงพิริยะชัยเทพวงศ์ ได้ลดการจัดงานเหลือ ๕ วัน ๕ คืน คือวันขึ้น ๑๑-๑๕ ค่ำ เดือน๖ เหนือ เดือน ๔ ใต้ ของทุกปี ภายในงานประกอบด้วยขบวนแห่ที่ยิ่งใหญ่ประกอบไปด้วย ริ้วขบวนของทุกอำเภอ ขบวนช้างเจ้าหลวง และเครื่องบรรณาการ ขบวนแห่กังสดาล ขบวนแห่หมากเป็ง ขบวนต้นผึ้ง ขบวนแห่ผ้าแพรคลุมองค์พระธาตุ ๑๒ สี ซึ่งประกอบด้วยขบวน ๑๒ ราศี ขบวนเทพีโปรยข้าวตอกดอกไม้ ต้นหมาก ต้นผึ้ง ด้นดอก ขบวนตุง ขบวนฟ้อนรำ มีการเทศน์และฟังเทศน์มหาชาติ มหาเวสสันดรชาดก ทั้งกลางวันและกลางคืน สำหรับกลางคืนมีมหรสพสมโภชตลอดงาน
ปัจจุบันประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่แห่ตุงหลวงนอกจากจะมีขบวนแห่ที่อลังการตามแบบอย่างในอดีตแล้วภายในงานยังมีกิจกรรมอื่นอีกมากมาย เช่น กิจกรรมการสาธิตการทำตุง โคม เครื่องสักการะล้านนา การประกวดหนูน้อยช่อแฮ รวมทั้งการออกร้านและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม ซึ่งล้วนแล้วแต่น่าสนใจและน่ามาสัมผัสความอลังการด้วยตนเองทั้งสิ้น
- วันเวลาการจัดงาน : วันขึ้น ๙-๑๕ ค่ำ เดือน ๖ เหนือ เดือน ๔ ใต้ ซึ่งอยู่ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคมของทุกปี
- สถานที่จัดงาน : วัดพระธาตุช่อแฮ ห่างจากตัวเมืองแพร่ไปตามถนนช่อแฮ ประมาณ ๙ กิโลเมตร (เส้นทางหลวงหมายเลข ๑๐๒๒)
- สถานที่จัดงาน : วัดพระธาตุช่อแฮ ห่างจากตัวเมืองแพร่ไปตามถนนช่อแฮ ประมาณ ๙ กิโลเมตร (เส้นทางหลวงหมายเลข ๑๐๒๒)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น