วันพุธที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ประเพณีแข่งขันตีโพน จังหวัดพัทลุง


“หลังประดิดประดอยโพนพร้อมสำหรับการประชันแล้ว  เสียงโพนจึงดังกึกก้อง  สร้างความครึกครื้น  รื่นเริง  ในงานประเพณีแข่งขันตีโพน  เครื่องดนตรีพื้นบ้านซึ่งอยู่คู่กับวิถีชีวิตของคนเมืองลุง  ด้วยเสียงอันทุ้มแหลมกังวาน  เกิดเป็นคำกล่าวที่ว่า  จะร้อยพันแม้นหมื่นเสียงตะโกน  ฤาจะสู้เสียงแข่งโพนที่เมืองลุง”
โพน  ชื่อเรียกเครื่องดนตรีพื้นบ้านของชาวปักษ์ใต้  เกี่ยวพันกับวิถีชีวิตของคนในอดีต  ใช้บอกเหตุร้ายเวลากลางคืน  บ้างใช้สำหรับเรียกประชุมหมู่บ้าน  เป็นสัญญาณเมื่อถึงเวลาฉันอาหาร  รวมทั้งใช้เป็นจังหวะในงานประเพณีลากพระ  พัฒนาสู่ประเพณีการแข่งขันตีโพยด้วยในวันงานลากพระ  วัดในละแวกเดียวกันต่างจัดงานกันยิ่งใหญ่  เสียงโพนจึงดังกึกก้องจนไม่สามารถแยกได้ว่าเสียงนั้นดังมาจากวัดไหน  นำสู่การแข่งขันประชันเสียงโพน  โดยเฉพาะในจังหวัดพัทลุงจะมีการจัดงานขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ในทุกๆ ปี
ประเพณีแข่งขันตีโพนจะเริ่มตั้งแต่ช่วงปลายเดือนสิบจนถึงวันแรมหนึ่งค่ำเดือนสิบเอ็ด  จัดควบคู่ไปกับประเพณีลากพระในวันออกพรรษา  ก่อนถึงวันแข่งขัน  เหล่านักตีโพนต่างขะมักเขม้นกับการประดิษฐ์เพื่อให้ได้โพนที่เสียงดีที่สุด  เลือกเอาไม้เนื้อแข็ง  ตาลโตนด  จำปาป่า  ขนุนป่า  แกะเป็นรูกลมกลวงคล้ายอกไก่  ใช้หนังควายแก่ซึ้งเป็นที่นิยมด้วยความเหนียวทนทานเป็นหนังหุ้ม  โพนของพัทลุงจึงมีชื่อเสียงโด่งดัง  ด้วยความพิถีพิถันในการประดิษฐ์  ตีโพนแบ่งการแข่งขันออกเป็นสองลักษณะคือ  การแข่งขันมือ (ตีทน)  ใครตีทน  ตีนานกว่าเป็นผู้ชนะ  อีกประเภทคือการแข่งขัน “จันเสียง”  ซึ่งจะได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน  บรรยากาศวันงานแข่งโพนในจังหวัดพัทลุงจะเต็มไปด้วยความครึกครื้น  สนุกสนาน  เหล่านักตีโพนต่างแสดงพละกำลัง  ลูกเล่น  ไหวพริบต่างๆ  ส่งเสียงทุ้มแหลมของโพนดังกังวานทั่วบริเวณ  และแม้จะเป็นการแข่งขันแต่ผู้ลงชิงชัยต่างมีแต่รอยยิ้ม  ความสุขจากการได้ร่วมงานประเพณีที่เป็นเสมือนส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตในท้องถิ่นบ้านเกิดของตนเอง  สะท้อนภูมิปัญญาการอยู่ร่วมกันฉันท์พี่น้อง  เกิดความรัก  ความสามัคคี  ด้วยวิถีอันเรียบง่ายที่คงเสน่ห์ยาวนาน
ถึงวันออกพรรษา  ทำบุญตักบาตรเสร็จแล้วอย่าลืมแวะมาฟังเสียงโพนเมืองลุง  “จะแลแข่งโพนให้หรอยและหนุกต้องแข่งโพนเมืองลุง”  โพนดี  โพนดัง  ต้องโพนเมืองลุง
          -   วันเวลาการจัดงาน : ปลายเดือน ๑๐  จนถึง  วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑  ประมาณช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม  นิยมแข่งขันกันในช่วงกลางคืนตั้งแต่เวลา ๒๑.๐๐ น. เป็นต้นไป
          -   สถานที่จัดงาน : บริเวณเทศบาลเมืองพัทลุง

ประเพณีแข่งเรือหน้าพระที่นั่งและงานของดีเมืองนรา จังหวัดนราธิวาส


“สีสันเรือกอและอันคงเอกลักษณ์  จากวิถีชีวิตชาวประมงนำสู่ประเพณีท้องถิ่น  เหล่าฝีพายนับสิบประจำในลำเรือ  จากนั้นจึงจ้ำพายสู่หลักชัย  ใครเร็วกว่าคือผู้ชนะ  เสียงปรบมือโห่ร้องส่งกำลังใจจากกองเชียร์ดังรอบ  ภาพบรรยากาศประเพณีแข่งเรือหน้าพระที่นั่ง  และงานของดีเมืองนรา  จึงเต็มไปด้วยสีสันเช่นความงามของลำเรือ”
เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ  พระบรมวงศานุวงศ์  เสด็จแปรพระราชฐานมาประทับแรม ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์  ทรงเสด็จออกเยี่ยมราษฎร  เพื่อรับฟังปัญหาความทุกข์ร้อนของประชาชน  เป็นที่มาของโครงการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน  ช่วยให้ประชาชนได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข  ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ  ชาวนราธิวาสจึงได้นำเอาการแข่งขันเรือกอและประเพณีไทยอันเก่าแก่ถวายทอดพระเนตรเพื่อเทิดพระเกียรติในพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้น  นำไปสู่การปฏิบัติตามประเพณีซึ่งเริ่มจางหายไปให้กลับมาดำรงอยู่อีกครั้ง
ในฤดูน้ำหลาก  วิถีชีวิตของชาวประมงยังคงดำเนิน  ขณะที่อีกด้านถือเป็นโอกาสประชันความแข็งแกร่งของเหล่าฝีพายจากทั่วหมู่บ้าน  ตำบล  เรือกอและหลากสีสันลอยลำเป็นระนาบเดียวกันบนผืนน้ำ  แล้วจึงกระโจนออกไปด้วยแรงสามัคคีจากเหล่าฝีพาย  มุ่งตรงไปยังหลักชัยด้วยจังหวะอันพร้อมเพรียง  ผืนน้ำกระเซ็นเป็นละออง  เพียงแค่อึดใจเดียวผู้เร็วกว่าจึงได้คว้าเอาธงซึ่งถือเป็นหลักชัยมาครอง  และนับเป็นชัยชนะในเที่ยวนั้น
การแข่งขันจะแบ่งออกเป็นสี่รอบ  เหล่าฝีพายแต่ละลำเรือไม่เกินยี่สิบสามคน  รวมทั้งนายท้าย  มีฝีพายสำรองไม่เกินลำละห้าคน  การเข้าเส้นชัยจะนับส่วนหัวเรือสุดของเรือที่เข้าเส้นชัยก่อนลำอื่นเป็นผู้ชนะในรอบนั้น  ทุกครั้งเมื่อได้ยินเสียงสัญญาณเริ่มการแข่งขัน  เสียงเชียร์จะดังกึกก้องท้องน้ำ  เรือกอและยังคงเอกลักษณ์ด้วยสีสัน  เลี้ยงชีวิตของชาวประมงพื้นบ้านมาช้านาน  ในวันนี้ได้สร้างความรื่นเริง  สนุกสนาน  ลดความเหนื่อยล้าจากการงาน  สร้างรอยยิ้มให้กับชาวบ้านได้อย่างน่าชม
          -  วันเวลาการจัดงาน : ปลายเดือนกันยายนของทุกปี
          -  สถานที่จัดงาน : บริเวณหน้าพลับพลาเฉลิมพระเกียรติสิริราชสมบัติ  ครบรอบ ๕๐ ปี  อำเภอเมือง  จังหวัดนราธิวาส

เทศกาลดอกลำดวน สืบสานประเพณี สี่เผ่าไท จังหวัดศรีสะเกษ


“ร่วมเรียนรู้  เข้าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอีสานใต้  ประเพณีสี่เผ่าไทศรีสะเกษและเทศกาลดอกลำดวน  สัมผัสเอกลักษณ์ของแต่ละชนเผ่า  ส่วย  ลาว  เยอ  และเขมร  วิถีชีวิต  ความเชื่อ  การแต่งกาย  ภายใต้ทิวไม้ที่สะพรั่งด้วยดอกลำดวนบานเต็มสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์”
จากความร่วมมือของจังหวัดศรีสะเกษ  มูลนิธิสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์  การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย  และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดศรีสะเกษ  ได้ทำให้งานเทศกาลดอกลำดวนบาน สืบสานประเพณีสี่เผ่าไท เป็นรูปเป็นร่างขึ้น  โดยใช้สถานที่บริเวณสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ในบริเวณวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ  เป็นสถานที่จัดงาน  ภายใต้ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่
บรรยากาศภายในสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ศรีสะเกษ  ต้นไม้ใหญ่ปกคลุมสร้างความร่มรื่น  และเย็นใจให้แก่ผู้เข้าร่วมงาน  ท่ามกลางใบไม้เขียวประดับด้วยดอกลำดวนหน้าตาคล้ายกับขนมกลีบลำดวนที่เราคุ้นเคย  ยามเย็นสายลมอ่อนพัดพากลิ่นดอกลำดวนหอมแบบไทยๆ  ชวนนึกย้อนสู่วันวาน  นั่งชมการแสดงทางวัฒนธรรม  วิถีชีวิตของชนเผ่าไทศรีสะเกษ  ส่วย  เขมร  ลาว  เยอ  ความหลากหลายกลายเป็นเสน่ห์ของผู้คนชาวอีสานใต้  ที่สามารถถ่ายทอดสู่สายตาทุกคู่ได้อย่างลึกซึ้ง
พร้อมด้วยกิจกรรมร่วมสมัย  ไล่เรียงจากการแสดงภาพเขียน  งานศิลปะของศิลปินระดับชาติและท้องถิ่น  การแสดงศิลปะพื้นบ้าน  กิจกรรมลานธรรม  สักการบูชาพระบรมสารีริกธาตุและรูปหล่อพระเกจิอาจารย์ชื่อดังของจังหวัดศรีสะเกษ  และกิจกรรมเชิดชูผู้สูงอายุ  ให้สมกับที่ดอกลำดวนนั้นเป็นสัญลักษณ์ของผู้สูงอายุนั่นเอง
ปิดท้ายสำหรับผู้ที่ชื่นชอบความสนุกสนาน  กิจกรรมบันเทิง  งานรื่นเริง  ร่วมลุ้นเป็นกำลังใจให้กับนักเรียนในการประกวดวงดนตรีลูกทุ่งไทย  เลือกซื้อสินค้าชุมชนพื้นเมือง  ไม้ดอกไม้ประดับ  ช่วยสร้างรายได้ให้แก่ท้องถิ่น  อย่าพลาดกิจกรรมดีๆ  ซึ่งตลอดระยะเวลาการจัดงานกว่า ๑ สัปดาห์นั้นจะช่วยให้คุณเข้าใจ  รักและหวงแหนในมรดกทางวัฒนธรรมของชาติให้คงอยู่  และเกิดคุณค่าส่งต่อให้คนรุ่นต่อๆ ไป
          -   วันเวลาการจัดงาน : ช่วงเดือนมีนาคม
          -   สถานที่จัดงาน : สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์  วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ

ประเพณีบุญผะเหวด จังหวัดร้อยเอ็ด


“ประเพณีบุญผะเหวด  หรืองานบุญเดือนสี่  ภาพจำลองเรื่องราวมหาชาติชาดก  ครั้งที่พระเวสสันดรกลับเข้าเมือง  ที่ยิ่งใหญ่ตระการตา  ของขบวนแห่ทั้ง ๑๓ กัณฑ์  ฟังเทศน์มหาชาติ  แห่กัณฑ์จอบ  กัณฑ์หลอน  แห่ข้าวพันก้อน  เทศน์สังกาด  บุญใหญ่ที่สร้างความสุขสนุกสนานแก่พุทธศาสนิกชนโดยทั่วกัน”
จังหวัดร้อยเอ็ด  ได้เริ่มฟื้นฟูงานประเพณีบุญผะเหวดขึ้นมาในปี พ.ศ.๒๕๓๔  ซึ่งได้มีการกำหนดจัดงานในวันเสาร์และวันอาทิตย์แรกของเดือนมีนาคม ณ บึงผลาญชัย  และสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์  เริ่มตันวันศุกร์ด้วยการแห่พระอุปคุต  วันเสาร์  ขบวนแห่ ๑๓ กัณฑ์  และวันอาทิตย์  ฟังเทศน์มหาชาติและแห่กัณฑ์จอบ  กัณฑ์หลอน  ขบวนต่างๆ ล้านเกิดจากความร่วมใจของชาวบ้าน  ที่แสดงออกถึงจตุปัจจัยที่ร่วมกัน  ถวายแด่พระที่กำลังเทศน์อยู่ในขณะนั้น  และเจาะจงถวายแด่พระที่ศรัทธาซึ่งเทศน์ในวันนั้น
เข้าสู่งานประเพณี  ชาวร้อยเอ็ดจะอัญเชิญพระอุปคุตแห่รอบเมือง  เพื่อปกป้องคุ้มครองมิให้เกิดภัยพิบัติและให้ทำมาค้าขึ้น  จากนั้นเริ่มพิธี “มหามงคลพุทธมนต์  พระอุปคุตเสริมบารมี”  เข้าสู่วันที่สอง  ช่วงเช้าแจกสัตสดกมหาทาน  บริจาคสิ่งของแด่ผู้ยากไร้  ตามด้วยไฮไลท์ของงานคือ  ขบวนแห่ตำนานพระเวสสันดร ๑๓ กัณฑ์  ภาพขบวนแห่พระเวสสันดรเข้าเมืองที่สมจริง  งดงามด้วยสีสันและท่วงท่าการร่ายรำ  พระเวสสันดรทรงช้างมาพร้อมด้วยพระนางมัทรี  ห้อมล้อมด้วยเหล่าทหารที่ยิ่งใหญ่
ถึงวันสุดท้าย  พิธีแห่ข้าวพันก้อน (ข้าวเหนียวปั้นเล็กๆ  จำนวน ๑,๐๐๐ ก้อน)  และเทศน์สังกาด (เป็นการพรรณนาอายุกาลของพระพุทธศาสนา  เริ่มแต่ต้นจนถึงอันตรธาน)  ร่วมทำบุญตักบาตร  เคล้าด้วยเสียงของการเทศน์มหาชาติทั้ง ๑๓ กัณฑ์ตลอดทั้งวัน  ช่วงสายๆ ขบวนแห่ถวายต้นเงิน  หรือต้นกัณฑ์จอบ  กัณฑ์หลอนของพุทธศาสนิกชนนำมาถวายพระภิกษุภายในบึงผลาญชัย  นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมการจัดประกวดธงผะเหวด  การประกวดภาพวาด  ภาพถ่ายประเพณีบุญผะเหวด  การแข่งกินขนมจีน  สร้างความสนุกสนานได้ตลอดงาน
-  วันเวลาการจัดงาน : ช่วงต้นเดือนมีนาคมของทุกปี (บุญเดือนสี่)
-  สถานที่จัดงาน : บึงผลาญชัย  สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์  อ.เมืองร้อยเอ็ด

ประเพณีบุญบั้งไฟ จังหวัดยโสธร


“นิทานพื้นบ้านเล่าสืบต่อกันมา  ผาแดงนางไอ่  พระยาคันคาก  ล้วนกล่าวถึงการจุดบั้งไฟถวายแด่พญาแถน  เพื่อเป็นการขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล  หลาบสิบปีได้สืบทอดงานประเพณีบุญบั้งไฟ  ความสวยงามของการตกแต่งขบวนที่ยิ่งใหญ่  ควันสีขาวพุ่งทะยานไปตามบั้งไฟแสนที่ขึ้นสู่ท้องฟ้า  ตามมาด้วยเสียงดังสนั่น  และเสียงลุ้นของผู้คน  สุดเร้าได้ทุกครั้งไป”
เมื่อถึงเดือน ๖ ชาวอีสานจะมีการจัดงานประเพณีที่สำคัญ  หนึ่งในฮีตสิบสอง  จากความเชื่อในการบูชาพญาแถนให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล  พร้อมเข้าสู่การทำนาครั้งใหม่  และกล่าวกันว่าหากหมู่บ้านใด  ชุมชนไหน  มิได้จัดงานประเพณีนี้ขึ้นในปีนั้นๆ  ฝนก็จะไม่ตก  พื้นดินก็จะแห้งแล้งไม่สามารถทำการเพาะปลูกใดๆ ได้
เมื่อถึงวันงาน  ก่อนการประกวดประชันบั้งไฟประเภทต่างๆ  จะมีขบวนแห่บั้งไฟตกแต่งด้วยสีสันที่สวยงาม  ตามมาด้วยเสียงดนตรีบรรเลงให้จังหวะในการเซิ้งบั้งไฟ  เซิ้งกระติบ  ฟ้อนขาลาย  ที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวอีสาน  และอีกหนึ่งสีสัน  คือ  ขบวนแห่การแต่งกายล้อเลียนบุคคล  ผู้ชายบางคนสวมใส่ชุดหญิงสาวออกอากัปกิริยาอ่อนช้อย  สร้างเสียงหัวเราะ  และความสนุกสนานให้ผู้พบเห็น
การแข่งขันบั้งไฟของยโสธรมีการแบ่งเป็นประเภทแฟนซี  บั้งไฟขนาดเล็กมีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒ นิ้ว  บรรจุดินประสิวไม่เกิน ๔ กิโลกรัม  เน้นที่ความสวยงาม  รวมทั้งลีลา  เมื่อจุดขึ้นฟ้าบางทีมอาจมีร่มหลากสีกางออก  หรือมีเสียงประกอบ  และประเภทบั้งไฟแสนซึ่งใช้แข่งขันกัน  โดยนับจากเวลาที่บั้งไฟขึ้นลอยอยู่บนท้องฟ้า  บั้งไฟของใครขึ้นนานที่สุด  สังเกตจากหางที่ตกลงสู่พื้นก็เท่ากับว่าขึ้นได้สูง  และได้รับชัยชนะในที่สุด
เมื่อถึงเวลาแข่งขัน  แต่ละทีมตระเตรียมความพร้อมก่อนจุดบั้งไฟให้ทะยานออกจากฐาน  พร้อมด้วยเสียงบั้งไฟแหวกอากาศที่แสดงถึงความเร็ว  ทิ้งควันสีขาวไปตามเส้นทางสู่ท้องฟ้า  ของใครยิ่งสูง  อยู่บนฟ้าได้นาน  ก็จะได้รับชัยชนะ  ส่วนทีมที่พ่ายแพ้  บั้งไฟระเบิด  หรือไม่ขึ้นก็ต้องถูกกระชากลากลงไปในบ่อโคลนเป็นที่สนุกสนาน  อันเป็นการสานความสามัคคีระหว่างชุมชน  และสร้างความประทับใจให้แก่ผู้เข้าร่วมงานทุกครั้งไป
          –  วันเวลาการจัดงาน : ช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี
          –  สถานที่จัดงาน : ณ สวนสาธารณะพญาแถน  และเขตเทศบาลเมืองยโสธร

ประเพณีบุญเบิกฟ้า จังหวัดมหาสารคาม



“ประเพณีบุญเบิกฟ้า  ช่วงวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต  ชาวนาอีสานตอบแทนผืนแผ่นดินทำกิน  โดยการใช้ปุ๋ยคอกทำจากมูลสัตว์กลับคืนสู่ผืนดินให้มีความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง  อีกทั้งสายฝนแรกของปีก็กำลังจะมา  ฟ้ากำลังจะร้อง  เมื่อมาทิศใดก็จะทำนายความอุดมสมบูรณ์ในปีนั้นๆ ไปตามความเชื่อดั้งเดิม”
ชาวนาใช้ประโยชน์จากพื้นดินมายาวนาน  ตลอดระยะเวลาการเพาะปลูก  ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นดินได้สูญสลายไป  เมื่อถึงช่วงเก็บเกี่ยว  เมล็ดข้าวที่เติบโตจนได้สีทองล้วนเป็นสิ่งที่ธรรมชาติได้มอบให้  ซึ่งชาวนาต่างรู้และสำนึกในบุญคุณของผืนแผ่นดิน  ด้วยการคืนธาตุ  คืนอาหารเป็นการตอบแทน  อาการที่ว่าก็คือปุ๋ยนั่นเอง
เดือน ๓ เดือนมหัศจรรย์ของชาวอีสาน  นอกจากเป็นเดือนที่อุดมสมบูรณ์แล้วยังเป็นเดือนเริ่มต้นฤดูฝน  ซึ่งจะมีเสียงฟ้าร้อง  และมีความเชื่อว่าในวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ นี้  เมื่อมีฟ้าร้องมาจากทิศทางใดจะเป็นสัญญาณบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของฝนในปีนั้นๆ  การทำนายดังกล่าวนับว่ามีความแม่นยำจนมีการจดบันทึกคำทำนายเป็นกลอนไว้เป็นหลักฐาน  ชื่อว่า “โสลกฝน”
ประเพณีบุญเบิกฟ้าเริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๘  ชาวบ้านแบก  ตำบลนาทอง  อำเภอเชียงยืน  ได้ฟื้นฟูประเพณีหาบฝุ่นปุ๋ยคอกไปใส่แปลงนาทุกครัวเรือนเพื่อเป็นการฟื้นฟูประเพณีบำรุงดินแบบอีสานจากความร่วมมือของชุมชนปรากฏว่าผลผลิตข้าวในปีนั้นเพิ่มจำนวนขึ้นเท่าตัว  ชาวบ้านจึงจัดงานประเพณีนี้เรื่อยมา  และกลายเป็นงานประเพณีประจำปีของจังหวัดมหาสารคาม  ซึ่งจัดอย่างยิ่งใหญ่ตลอดระยะเวลา ๗ วัน ๗ คืน
เมื่อถึงกำหนดงานชาวบ้านต่างช่วยกันหาบปุ๋ยคอกไปใส่ลงในแปลงนา  ควบคู่กับพิธีบูชาพระแม่ธรณี  ตั้งเครื่องสังเวย  เหล้าไห  ไก่ต้ม  ของหวาน  กล้วย  อ้อย  ตามรูปแบบพิธีกรรมดั้งเดิม  ซึ่งนับเป็นประเพณีที่สมบูรณ์  และสะท้อนภาพวิถีชีวิตของชาวอีสานอย่างแท้จริง
          –  วันเวลาการจัดงาน : วันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ ของทุกปี
          –  สถานที่จัดงาน :  สนามหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองมหาสารคาม

ประเพณีตักบาตรดอกไม้ จังหวัดสระบุรี


“น้อมนมัสการรอยพระพุทธบาท  ร่วมทำบุญตักบาตรตามวิถีปฏิบัติ  ในงานประเพณีตักบาตรดอกไม้  เนื่องในเทศกาลวันเข้าพรรษา  ตลอดช่วงเช้าและช่วงบ่ายพระสงหลายร้อยรูป  บิณฑบาตเหล่าดอกเข้าพรรษาสีเหลือง  ขาว  และน้ำเงินม่วง  ซึ่งจะเบ่งบานในช่วงวันเข้าพรรษา  ที่พุทธศาสนิกชนหลายหมื่นแสนต่างพร้อมใจนำมาถวายด้วยศรัทธาอันแรงกล้า  เรื่อยมาจวบจนปัจจุบัน”
ดอกเข้าพรรษากำลังเบ่งบานอยู่รายรอบภูเขา  บริเวณใกล้กับวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร  นับเป็นสัญญาณที่บอกให้ทราบว่าใกล้ถึงช่วงวันเข้าพรรษา  แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ แล้ว  ซึ่งนับว่าเป็นวาระมงคลที่พุทธศาสนิกชน  จะมาพร้อมกันเพื่อถวายดอกเข้าพรรษาแก่พระภิกษุสงฆ์  เพื่อนำไปสักการะแด่พระเจดีย์จุฬามณี  ตามความเชื่อดั้งเดิม
ที่มาของการตักบาตรดอกไม้  ผูกโยงกับพุทธตำนานว่า  ครั้งพุทธกาลพระเจ้าพิมพิสาร  จะรับสั่งให้นายมาลากรนำดอกมะลิเข้าถวายวันละ ๘ กำมือ  อยู่มาวันหนึ่ง  พระพุทธเจ้าได้ทรงออกบิณฑบาตพร้อมภิกษุสงฆ์จำนวนหนึ่ง  นายมาลากรได้เห็นพรรณรังสีฉายประกายรอบพระวรกาย  จึงเกิดความเลื่อมใสและนำดอกมะลิถวายแด่พระพุทธเจ้าทั้งหมด  พร้อมตั้งจิตอธิษฐานว่า “ข้าวของทุกชิ้นที่พระเจ้าพิมพิสารมอบให้เพียงเพื่อยังชีพในภพนี้เท่านั้น  แต่การนำดอกไม้บูชาแด่พุทธองค์  สร้างอานิสงส์ได้ทั้งภพนี้และภพหน้า  หากถูกประหารเพราะไม่ได้ถวายดอกมะลิก็ยิมยอม”  แต่เมื่อพระเจ้าพิมพิสารทราบเรื่องก็ทรงเห็นด้วย  ปูนบำเหน็จแก่นายมาลากร  และนายมาลากรก็อยู่อย่างมีความสุขตลอดมา
จากความเชื่อกลายเป็นวิถีปฏิบัติของชาวพุทธศาสนิกชนชาวอำเภอพระพุทธบาท  ที่ต่างเก็บดอกเข้าพรรษา  ทั้งสีขาว  เหลือง  และม่วง  มาใส่บาตรพระภิกษุสงฆ์  เพื่อนำขึ้นไปสักการะพระเจดีย์ที่บรรจุพระเขี้ยวแก้ว  และสักการะพระเจดีย์มหาธาตุองค์ใหญ่ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ  สุดท้ายนำเข้าโบสถ์ประกอบพิธีสวดเข้าพรรษา  ซึ่งหลังจากเสร็จพิธี  พระสงฆ์จะเดินกลับลงมา  โดยพุทธศาสนิกชนต่างพร้อมชำระล้างเท้าของพระสงฆ์ด้วยน้ำสะอาดเพื่อเป็นการชำระล้างบาปของตนเองด้วย
ประเพณีทางพระพุทธศาสนาที่เต็มไปด้วยภาพความงดงามของทุกท่วงท่า  รายละเอียดของทุกแง่มุมที่ล้วนมีความหมาย  และไม่ยากที่สักครั้งคุณจะเป็นคนหนึ่งที่ได้เข้ามาสัมผัส  และร่วมดำเนินพิธีกรรม  เข้าถึงงานประเพณี  ร่วมถ่ายทอดเอกลักษณ์เหล่านี้ให้คงอยู่  บอกกล่าวเล่าต่อว่า  การสร้างบุญกุศลที่แรงกล้านั้นเกิดจากศรัทธา  และความดีที่เกิดจากตัวคุณเอง
          –  วันเวลาการจัดงาน : วันเข้าพรรษา  แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ของทุกปี
          –  สถานที่จัดงาน :  วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร